วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

จิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กปฐมวัย

จิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กปฐมวัย
          นักการศึกษาและนักจิตวิทยาพัฒนาการต่างเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย คือต้องจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการและธรรมชาติของเด็ก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ระยะปฐมวัยเป็นวัยเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว สนใจ อยากรู้ อยากเห็น มีการเลียนแบบผู้ใหญ่ พัฒนาการทางสติปัญญายังไม่เจริญเท่าที่ควร เด็กยังไม่สามารถศึกษาเหตุผลได้ สิ่งที่แสดงออกมามักเกิดจากการรับรู้และจดจำเลียนแบบผู้อื่น ลักษณะที่เด่นชัดของวัยนี้ คือ ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Ego - centric)
       นักการศึกษาและนักจิตวิทยาพัฒนาการยิ่งตระหนักถึงธรรมชาติของเด็กและเน้นการส่งเสริมพัฒนาการตามธรรมชาติ โดยการจัดประสบการณ์และกิจกรรมที่เหมาะสมแก่เด็ก ดังนี้

          เปสตาลอสซี (Pestalozzi) ได้ให้แนวคิดว่า การสอนเด็กเล็กต้องคำนึงถึงพัฒนาการของเด็ก ตลอดจนความแตกต่างระหว่างบุคคล เขาเป็นผู้ริเริ่มคิดเรื่องความพร้อมและไม่บังคับให้เด็กเรียนแบบท่องจำ แต่ให้เรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ ทางวัตถุหรือรูปธรรมที่ทำให้เด็กได้สังเกตและเข้าใจจากการเห็นด้วยสายตา สัมผัสจับต้องและรู้สึก เขาเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านความสนใจ ความต้องการ และอัตราในการเรียนรู้

           เฟรอเบล (Froebel) มีแนวคิดว่า การเล่นเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเด็กเล็ก เขามีความเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถอยู่ภายใน และจะแสดงออกเมื่อได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนด้วยการเล่นกิจกรรมต่าง ๆ เขาจึงประดิษฐ์ของเล่นสำหรับเด็กและเสนอกิจกรรมการเล่นที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก

            มอนเตสเซอรี่ (Montessori) เป็นผู้นำความคิดของเฟรอเบลมาปรับปรุง และเสนอการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้กิจกรรมการเล่น โดยเชื่อว่าการสอนเด็กเล็กนั้นจะต้องคำนึงถึงเสรีภาพ และความต้องการของเด็กเป็นสำคัญ มีความเห็นสอดคล้องกับ ดิวอี้ (John Dewey) ซึ่งมีความเห็นว่าควรให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมากที่สุด (Learning by Doing) โดยคำนึงถึงความพร้อม ความแตกต่างระหว่างบุคคลและความสนใจของเด็กเป็นพื้นฐาน
            เพียเจต์ (Piaget) ได้ให้แนวคิดว่า ในการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย ครูจำเป็นต้องให้อิสระเสรีในการอยู่ร่วมกับเด็ก ในลักษณะที่ให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าซักถาม ส่งเสริมให้เด็กกระตือรือร้น และส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะแข่งขันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยอมรับซึ่งกันและกัน ในกระบวนการเรียนการสอนที่ครูจัด สิ่งแวดล้อมให้เด็กได้มีการกระทำในกิจกรรม สิ่งสำคัญใช้กิจกรรมการเล่นเป็นสื่อการสอน เพราะการเล่นเป็นวิธียั่วยุให้เด็กเกิดความสนใจความกระตือรือร้น อยากเรียนอยากรู้

            อีริคสัน (Erikson) เน้นความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ถูกทางและยอมรับความสำคัญของวัยเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยสำคัญที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางด้านอารมณ์ แรงจูงใจอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาบุคลิกภาพ

               กีเซล (ฉวีวรรณ จึงเจริญ. 2528 : 7 - 12 ; อ้างอิงมาจาก Gesell.n.d.) เน้นเรื่องวุฒิภาวะ (Maturity) เขาเชื่อว่าพฤติกรรมของเด็กนั้นเป็นไปตามแบบแผนลำดับขั้นแห่งพัฒนาการ จะข้ามขั้นไม่ได้ แต่อัตราแห่งการเจริญเติบโตจะแตกต่างกันในตัวเด็กในทัศนะของกีเซลล์ สิ่งแวดล้อมไม่ได้มีอิทธิพลต่อเด็กเป็นสำคัญ แต่วุฒิภาวะทางร่างกายมีความสำคัญมาก และเป็นตัวกำหนดถึงพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กด้วย


              สรุปได้ว่า การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นการส่งเสริมพัฒนาการ ให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงอย่างเป็นรูปธรรม โดยการลงมือจัดกระทำกับวัตถุสิ่งของ และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ ตามความสนใจและเหมาะสมกับวัยของเด็ก ทำให้เด็กเกิดทักษะต่าง ๆ เช่น การสังเกต การจำแนก เปรียบเทียบ การลงมือปฏิบัติ เป็นต้น

บทคัดย่อภาคนิพนธ์

หัวข้อภาคนิพนธ์                         ความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อการบริหารจัดการศูนย์พัฒนา เด็กเล็กบ้านโนนเมือง  ตำบลโนนเมืองพัฒนา  อำเภอด่านขุนทด   จังหวัดนครราชสีมา
ชื่อนักศึกษา                               นางนิภา  เติบโต
สาขา                                        การบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัย                              บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
อาจารย์ที่ปรึกษาภาคนิพนธ์        รองศาสตราจารย์  ดร. จิตรี  โพธิมามกะ
ปีการศึกษา                                2552

บทคัดย่อ
                       
                        การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้ปกครอง ที่มีต่อการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนเมือง ตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด  จังหวัดนครราชสีมา จำแนกตามภูมิหลังของผู้ปกครอง ใช้วิธีการศึกษาเชิงสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ปกครอง จำนวน 108คน ผู้ศึกษาใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( )  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD.) สถิติทดสอบค่าที  (t - test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way  ANOVA)
                        ผลการศึกษาพบว่า
                        1. ความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนเมือง  ตำบลโนนเมืองพัฒนา  อำเภอด่านขุนทด  จังหวัดนครราชสีมา โดยภาพรวมผู้ปกครอง มีความพึงพอใจในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ลำดับ 1 คือ ด้านหลักสูตร ลำดับที่ 2 คือ ด้านการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากชุมชน ลำดับ 3 คือ ด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม และลำดับสุดท้าย คือ ด้านวิชาการ
                                2. การทดสอบสมมติฐาน พบว่า ผู้ปกครองที่มี เพศ อายุ ระดับการศึกษาสูงสุด อาชีพ และรายได้ต่างกันมีความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนเมือง ตำบลโนนเมืองพัฒนา  อำเภอด่านขุนทด  จังหวัดนครราชสีมา โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน